08 มีนาคม 2552

มือใหม่ ดูแล..รถยนต์ เรื่องเล็กแต่ต้องทำ

อันนี้ต้องขอออกตัวก่อนนะครับว่า ผมเองก็ไม่ใช่มือหนึ่งหรือมือโปรในเรื่องรถยนต์ แต่จากประสบการณ์การทำงานกับรถยนต์ในบริษัทรถเช่ามาหลายปี ต้องสอนให้พนักงานใหม่หลายคนหัดดูแลรถยนต์ เพื่อให้รถยนต์ของเราอยู่ในสภาพดี และปลอดภัยเสมอ ทำให้รู้ว่าหลายๆคนไม่รู้ว่าจะดูแลรถยนต์อย่างไร ต้องทำอะไรบ้าง จึงอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ให้ผู้ที่อยากรู้เรื่องนี้ครับ



จริงๆต้องยอมรับครับว่า ตอนที่ผมขับรถของผมเองตอนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ผมก็ปล่อยปะละเลยไม่ค่อยดูแลรถของตัวเองมากนัก แต่พอมาเข้ามาอยู่ในธุรกิจรถเช่าแล้ว ต้องดูแลรถเช่าทุกคันให้อยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา ดีกว่ารถตัวเองด้วยซ้ำ อันนี้เพราะความปลอดภัยของลูกค้าถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเรา และถ้าบกพร่องในจุดนี้ เราอาจจะไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกเลยก็ได้



มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ การดูแลรถยนต์ด้วยตนเองต้องตรวจเช็คอะไรบ้าง

1. ยางรถยนต์ อันนี้ผมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะถ้าใช้ยางรถยนต์ไม่ดี เสื่อมคุณภาพอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การตรวจยางรถยนต์ ก็ต้องดูองค์ประกอบหลายๆอย่างดังนี้

- ประการแรก ก็ให้ดูระดับลมยาง วัดระดับลมยางให้พอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป ให้ดูที่คู่มือรถ หรือข้างประตูคนขับ จะมีบันทึกไว้ว่าระดับความดันที่เหมาะสมของรถเราควรจะเป็นเท่าไหร่
- ลำดับต่อไป ก็ดูสภาพยางโดยรวมว่ามีรอยแตก รอยแหว่งหรือไม่ ถ้ามีก็ควรปรึกษาร้านยางเพื่อให้ตรวจสอบดู
- ตรวจดูดอกยาง ควรจะเหลือมากกว่า 3 มิลลิเมตร
- สุดท้ายควรดูความยืดหยุ่นของยางว่ายังดีหรือไม่ โดยปกติที่รอบๆยางจะมีหนวดเส็นเล็กๆยื่นออกมา ลองดึงดูครับ ถ้าดึงดูแล้วมันยังยืดหยุ่นดี ไม่ขาดง่ายแสดงว่ายางยังดีอยู่ แต่ถ้าดึงกี่เส้นก็ขาดง่าย แสดงว่ายางเริ่มเสื่อมแล้วครับ

เกือบลืมไปครับ การตรวจยางรถยนต์ ควรตรวจให้ครบทุกเส้นนะครับ อย่าลืมว่า ยางรถยนต์ของเรามีทั้งหมด 5 เส้นนะครับ อย่างลืมตรวจยางสแปร์ดัวย

2. น้ำในหม้อน้ำ และ หม้อพัก การตรวจสอบระดับน้ำหล่อเย็นนี้ก็สำคัญครับ เพราะถ้าลืม ปล่อยให้น้ำแห้ง อาจจะทำให้เครื่องยนต์เสียหาย เสียเงินหมื่นเงินแสนได้ง่ายๆ

การตรวจน้ำในหม้อน้ำไม่ยากครับ ปกติพอเปิดฝาหม้อน้ำดูแล้ว น้ำต้องอยู่ในระดับเต็มครับ ข้อระวังคือ หากหม้อน้ำร้อนอยู่ หรือเพิ่มดับเครื่อง ควรรอให้หม้อน้ำเย็นก่อน มิฉะนั้น ความดันของน้ำในหม้อน้ำอาจดันน้ำร้อนพุ่งออกมาเข้าหน้าเข้าตาได้

สำหนับหม้อพัก น้ำควรอยู่ระดับกลางๆครับ ไม่มากหรือน้อยเกินไป ปกติจะอยู่ระหว่างระดับ Min และระดับ Max ที่เขียนอยู่ที่ข้างหม้อพักครับ

สำหรับมือใหม่จริงๆ หม้อน้ำคือแผงโลหะ มีลักษณะคล้ายรังผึ้ง ฝาหม้อน้ำมักจะทำด้วยโลหะฝาสีเงินครับ ส่วนหม้อพัก ส่วนมากเป็นกระบอกพลาสติกสีขาว มีท่อน้ำเล็กเชื่อมต่อไปยังหม้อน้ำ

3. น้ำมันเครื่อง อันนี้ควรเช็คครับ ถึงแม้จะไม่ค่อยมีปัญหาก็ตาม เพราะถ้าเราสังเกตเห็นระดับน้ำมันเครื่องน้อยผิดปกติ อาจแสดงถึงเครื่องยนต์กำลังมีปัญหาครับ

การตรวจสอบก็ทำได้โดยการดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องออกมา แล้วใช้กระดาษทิสชูเช็ด จากนั้นก็เอาก้านวัดระดับจุ่มลงในรูเดิมที่ดึงออกมาแล้วดึงออกมาอีกครั้งหนึ่ง ระดับน้ำมันเครื่องควรอยู่ตรงกลางระหว่างระดับ Min และระดับ Max ครับ

4. น้ำกลั่นแบตเตอรี่ ถ้าน้ำกลั่นแห้ง อาจไม่ถึงขั้นอันตรายครับ แต่อาจทำให้เสียตังค์ และไม่สะดวกถ้ารถสตาร์ทไม่ติด

ควรจะเติมน้ำกลั่นให้อยู่เหนือระดับตะกั่วในแบตเตอรี่ครับ แต่ไม่ควรเติมในระดับที่สูงเกินไปนะครับ ที่ข้างแบตเตอรี่ก็จะมีระดับ Min และ Max เหมือนกัน ไม่ควรเติมน้ำกลั่นให้เกินระดับ Max ครับ

ข้อควรระวัง ไม่ควรอานิ้วแหย่ลงไปในรูที่เติมน้ำกลั่น หรือระวังหากเติมน้ำกลั่นจนล้นออกมาจากแบตเตอรี่ อย่าให้โดนร่างกายของเราครับ เพราะของเหลวที่ล้นออกมามันคือกรดครับ ไม่ใช่น้ำกลั่นธรรมดาแล้ว

5. น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก น้ำมันเพาเวอร์ แค่ดูว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็โอเคแล้ว ปกติก็จะอยู่ในกระปุกพลาสติกเล็กๆ รักษาระดับน้ำมันให้อยู่ตรงกลางระหว่างระดับ Min และระดับ Max ครับ

6. พัดลมหม้อน้ำ และ พัดลมแอร์ ควรสังเกตเป็นระยะเหมือนกันครับ ลองดูว่ามีรอยแตก ฉีกที่สายพานหรือไม่ หรือสายพานหย่อนหรือไม่ ถ้ามีปัญหาก็ควรเข้าศูนย์เพื่อให้ช่างตรวจสอบครับ

7. สายพานต่างๆ โดยมากไม่ค่อยเสียครับ แต่ควรสังเกตไว้ให้เป็นนิสัย เพราะถ้าพัดลมเสียก็ทำให้การระบายความร้อนไม่ดีเท่าที่ควร อาจมีผลต่อความร้อนของเครื่องยนต์ และทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้

ลองดูว่าพอเครื่องร้อนแล้ว พัดลมหม้อน้ำ (พัดลมตัวใหญ่) ก็จะเริ่มหมุนครับ และสำหรับพัดลมแอร์ (พัดลมตัวเล็ก) พอเปิดแอร์สักระยะหนึ่งแล้ว ก็จะเริ่มหมุนเหมือนกันครับ


อันนี้ก็เป็นวิธีง่ายๆที่เราสามารถตรวจสอบรถเราด้วยตนเอง เพื่อยืดอายุการใช้งานของรถยนต์ และ ประหยัดเงินในกระเป๋าในระยะยาว

ข้อมูลโดย เพียวคาร์เร้นท์ (Pure Car Rent)
เว็บไซต์ http://www.purecarrent.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น